ทำไม สสวท. ต้องประเมินความสามารถการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ?
6 กรกฎาคม 2553
 

      
     ในแต่ละปี  หลายหน่วยงาน ได้มีการจัดสอบ จัดแข่งขันวิชาคณิตศาสตร์ กันหลายสนาม  เช่น โครงการทดสอบความรู้ของบริษัทเสริมปัญญา จำกัด  การสอบแข่งขันคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษาตอนปลาย ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย   ของสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทย ฯ   การจัดแข่งขัน โครงการเพชรยอดมงกุฏ ฯลฯ 
      
       แต่เหตุใดปีนี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ถึงได้ร่วมมือกับธนาคารออมสิน และบริษัทเอ็ดดูพาร์ค จำกัด จัดทำ “โครงการประเมินความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น”  
       โครงการประเมินของ สสวท. ครั้งนี้ ซ้ำซ้อนกันกับโครงการที่กล่าวถึงข้างต้นหรือไม่ ?         
        นายภูดิท  พรรักษมณี  ผู้อำนวยการบริษัทเอ็ดดูพาร์ค จำกัด  ไขข้อข้องใจว่า  “การจัดสอบของหน่วยงานอื่นๆ ในวิชาคณิตศาสตร์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการจัดสอบเพื่อแข่งขัน เพื่อมุ่งจัดอันดับ    แต่การประเมินครั้งนี้เน้นวิเคราะห์นักเรียนอย่างเป็นระบบ เป็นรายบุคคล ซึ่ง เน้นวิเคราะห์ แล้วเยียวยา ไม่ใช่ทดสอบ ได้ผลการแข่งขัน ให้รางวัล แล้วก็จบกันไป”  นั่นคือ เน้นการค้นหาจุดอ่อน จุดแข็งของผู้เข้าร่วมประเมิน  เพื่อให้ครู สถานศึกษา หรือฝ่ายจัดการศึกษา จัดการเรียนการสอนและวางแผนการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ผู้เกี่ยวข้องนำข้อมูลไปพัฒนาต่อได้ เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการศึกษา
 
 
       “นักเรียนที่เข้าร่วมการประเมิน จะได้ข้อมูลอย่างละเอียดของตนทุกคน ว่ามีเนื้อหาด้านใดบ้างที่ควรปรับปรุง  หรือด้านใดที่เป็นจุดเด่นของตน  ไม่ว่าจะเป็นด้านพฤติกรรมการเรียนรู้  สาระการเรียนรู้ระดับพื้นฐาน  หรือความรู้เชิงประยุกต์ของตน  นอกจากนั้น  หลังจากการประเมิน จะมีการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ เป็นรายบุคคล  วิเคราะห์ภาพรวมของแต่ละโรงเรียน  เปรียบเทียบภาพรวมของแต่ละเขตการศึกษา ภาพรวมของแต่ละจังหวัด ภาค และภาพรวมระดับประเทศ เพื่อให้โรงเรียน เขตการศึกษา สสวท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลที่ได้ไปวางแผนในเชิงนโยบาย แก้ปัญหาารเรียนรู้คณิตศาสตร์ของนักเรียนได้อย่างตรงจุด  ” 
       ระบบการประเมินและวิเคราะห์ผลผู้เรียนเป็นรายบุคคลนั้น ประเทศเกาหลีใต้ได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 11 ปีแล้ว เป็นระบบประเมินที่เน้นการค้นหาจุดอ่อน จุดแข็งของผู้เข้ารับการประเมิน บริษัทเอ็ดดูพาร์ค จำกัด จึงได้สนับสนุนข้อสอบ และระบบการวิเคราะห์ ประเมินผล การจัดทำรายงานผลทั้งระบบ  ตั้งแต่ ผลรายบุคคล ภาพรวมของแต่ละโรงเรียน  ภาพรวมของแต่ละจังหวัด ภาพรวมของแต่ละเขตการศึกษา  แต่ละภาค และภาพรวมระดับประเทศ โดยไม่คิดค่าดำเนินการ ซึ่งหวังว่า สสวท. จะสามารถพัฒนากลุ่มผู้เรียนคณิตศาสตร์และครูผู้สอนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล         
         นางพรพรรณ  ไวทยางกูร  ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)   เสริมว่า  โครงการนี้ ไม่ได้จัดขึ้นเพื่อแข่งขันความสามารถทางคณิตศาสตร์  ได้คัดเลือกข้อสอบจากประเทศเกาหลีใต้ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานหลักสูตรคณิตศาสตร์  แล้วนำมาประเมิน ความสามารถรายบุคคลโดยละเอียด  “เจาะลึก” เพื่อประเมินความสามารถด้านเนื้อหาเกี่ยวกับจำนวนและการดำเนินการ  การวัด พีชคณิต เรขาคณิต  การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติ  ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์  ประเมินระดับพฤติกรรมการเรียนรู้ ความจำ ความเข้าใจ  การนำไปใช้ การวิเคราะห์ สังเคราะห์  
      
“ข้อมูลที่ได้จากการทดสอบครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลพื้นฐาน ให้ สสวท. นำไปวิเคราะห์ว่านอกจากกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนแล้ว จะต้องเพิ่มเติมในเรื่องของหลักสูตร สื่อการเรียนการสอนและส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างไร”
 
      
         นางบุษบา  ฤทธิ์เรืองนาม ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ธนาคารออมสิน  กล่าวว่า ธนาคารออมสิน ถือได้ว่า เป็นธนาคารที่เติบโตเคียงข้างเยาวชน โดยล่าสุดได้จัดทำโครงการ  “ธนาคารโรงเรียน”  ที่เน้นด้านการออมสำหรับเยาวชน  เมื่อมีโครงการนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนความรู้ให้แก่เยาวชน และพัฒนาเยาวชนให้มีคุณภาพ  จึงได้เข้าร่วมให้การสนับสนุน โดยสนับสนุนงบประมาณ 5 ล้านบาท สำหรับใช้เป็นเงินรางวัลให้แก่นักเรียนที่ชนะการแข่งขันในโครงการนี้
 
        โครงการนี้  เปิดรับสมัครนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2553    จัดสอบวันที่ 6  พฤศจิกายน  2553 ณ โรงเรียนมัธยมศึกษาจำนวน 150 โรงเรียนทั่วประเทศ โดย สสวท. สนับสนุนค่าดำเนินงานเบื้องต้นให้โรงเรียนที่เป็นศูนย์รับสมัครและจัดสอบ  โรงเรียนละ  10,000 บาท    ผู้สมัครสอบต้องชำระค่าสมัครสอบคนละ  100  บาท  โรงเรียนที่เป็นศูนย์รับสมัครและจัดสอบ จะได้รับค่าดำเนินการรายหัวจากจำนวนผู้สมัครสอบรายละ 35  บาท  การสมัครเข้าร่วมการประเมินนั้น ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของนักเรียนและผู้ปกครอง  และไม่ได้เป็นการแสวงหากำไรจากการจัดสอบครั้งนี้
       รางวัลสำหรับนักเรียนที่ชนะการแข่งขันระดับประเทศ ประกอบด้วย เหรียญทอง10 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร  เหรียญเงิน 20 รางวัล รางวัลละ  8,000  บาท พร้อมเกียรติบัตร เหรียญทองแดง 30 รางวัล รางวัลละ  5,000 บาท  พร้อมเกียรติบัตร  ระดับจังหวัด  จังหวัดละ 5 รางวัลทุนการศึกษา รางวัลละ 3,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ถ้าผู้ได้รับรางวัลเป็นนักเรียนจากโรงเรียนที่เป็นสมาชิกธนาคารโรงเรียนของธนาคารออมสิน  จะได้รับรางวัลเป็น  2  เท่าของที่ประกาศไว้  ถ้าโรงเรียนที่เป็นสมาชิกธนาคารโรงเรียนของธนาคารออมสินมีนักเรียนได้รับรางวัลเหรียญทอง   เหรียญเงิน  หรือ  เหรียญทองแดง จะได้รับเงินสนับสนุนโรงเรียนละ 4,000 บาท
       ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www3.ipst.ac.th/TME

                 ----------------------------------------------------------------------------

                                                  ส่วนประชาสัมพันธ์ สสวท.


ที่มาข่าวจาก สสวท.